เปลี่ยน ‘To – do list’ เป็น ‘Done list’ จดบันทึกความสำเร็จแต่ละวันเพื่อเป็นรางวัลชีวิต

Share

หลายคนอาจคุ้นเคยกับการตื่นขึ้นมาพร้อมรายการสิ่งที่ต้องทำ หรือ ‘To – do list’ เพื่อย้ำเตือนว่า วันนี้ต้องทำอะไรบ้าง ทั้งสะสางงานเก่าที่ค้างคา หรืองานใหม่ที่เข้ามาและจำเป็นต้องเร่งทำให้เสร็จในแต่ละวัน

การทำ ‘To – do list’ มีประโยชน์หลักๆ คือ ช่วยจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำให้ลุล่วง วันไหนทำได้ตามเป้าครบทุกข้อ อาจจบวันด้วยความรู้สึกโล่งใจที่ทำได้สำเร็จ

อย่างไรก็ดี โอลิเวอร์ เบิร์กแมน (Oliver Burkeman) นักเขียนเจ้าของหนังสือขายดี ‘Four Thousand Weeks: Time Management for Mortals’ (ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์) ระบุว่า ปัญหาของ To – do list คือ มันทำให้เรารู้สึก ‘เป็นหนี้ความโพรดักทีฟ’ (productivity debt) ตั้งแต่เช้า

ถ้าแต่ละวันจบลงด้วยการทำตาม To – do list ได้ครบ เท่ากับว่าวันนั้นเรา ‘ใช้หนี้’ หมด หรือเท่าทุน แต่ถ้าทำได้ไม่ครบก็เท่ากับชีวิตติดลบ รู้สึกไม่ดี หรือจะเรียกว่า อยู่ในสถานการณ์ ‘ไม่เจ๊า – ก็เจ๊ง’ เท่านั้น

นั่นคือเหตุผลที่เบิร์กแมน แนะนำให้คนทั่วไปหันมาใช้ ‘Done list’ หรือการจดบันทึกสิ่งที่ทำสำเร็จเป็นข้อๆ แทนการทำ ‘To – do list’ เพื่อไม่ให้ตื่นมาพร้อมกับการเป็น ‘หนี้’ ที่ต้องตามชดใช้ทุกวัน

วิธีการทำ ‘Done list’ ไม่ต่างจาก ‘To – do list’ เพียงแต่ทำกลับด้านกัน คือ แทนที่จะจดสิ่งที่ต้องทำเป็นข้อๆ รอไว้แต่เช้า ให้เปลี่ยนมาเริ่มต้นวันใหม่ด้วยตารางที่ว่างเปล่า และค่อยๆ จดสิ่งที่ทำสำเร็จแล้วเป็นข้อๆ ลงไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ แล้วแต่สไตล์ของแต่ละคน

วิธีนี้นอกจากจะทำให้เราไม่รู้สึก ‘เป็นหนี้ความโพรดักทีฟ’ ตั้งแต่เช้า ยังทำให้เราจบวันแต่ละวันด้วย ‘กำไร’ จากความสำเร็จที่ทำได้ในแต่ละข้อ

จดทั้งความสำเร็จและเหตุผล

นอกจากนี้ การจด Done list ยังช่วยทำให้ผู้ปฏิบัติรู้สึกดียิ่งกว่าการทำตาม To – do list ครบ เพราะทุกครั้งที่จดบันทึกความสำเร็จลงไป เราจะภูมิใจและมีความสุขกับความสำเร็จนั้น

เบิร์กแมน บอกว่า การทำ Done list ช่วยให้เราตัดสินใจเลือกสิ่งที่ต้องการโฟกัสได้ดีขึ้น และทำให้ชีวิตก้าวหน้ามากขึ้น เพราะจะเปลืองเวลาและพลังงานน้อยลง จากการไม่ต้องไปกังวลว่าควรจดหรือไม่จดอะไรลงไปใน To – do list แต่ละวัน

นอกจากการจดบันทึกความสำเร็จที่ทำได้ลงใน Done list แล้ว ผู้เชี่ยวชาญยังแนะนำให้จด ‘เหตุผล’ ของการทำสิ่งนั้นลงไปในแต่ละหัวข้อด้วย เพื่อเป็นการทบทวนตัวเองว่า ‘ทำไม’ เราจึงทำสิ่งนั้น และสิ่งนั้นมีความสำคัญต่อตัวเราและคนรอบกายอย่างไร

นักวิจัยเปิดเผยว่า การบรรยายถึงเหตุผล หรือวัตถุประสงค์ ของการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงไป จะทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจถึงคุณค่าในการทำสิ่งนั้น และจะใช้ความพยายามมากขึ้น จนมีโอกาสประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ดังนั้น การจดบันทึกความสำเร็จจึงควรมีทั้ง ‘what’ และ ‘why’ คือ สำเร็จเรื่อง ‘อะไร’ และ ‘ทำไม’ ถึงทำสิ่งนั้น ซึ่งนั่นอาจเปลี่ยนคำว่า Done list เป็น ‘Why it was done list’ ในที่สุด

แต่ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร การจดสิ่งที่ทำได้ลุล่วงลงไปใน Done list ย่อมทำให้ผู้ปฏิบัติรู้สึกดีกว่าการทำตาม To – do list ยิ่งถ้าจด ‘เหตุผล’ ของการทำสิ่งนั้นควบคู่กันลงไป จะยิ่งชุบชูใจให้มีพลังทำเรื่องอื่นๆ ให้สำเร็จตามมามากยิ่งขึ้น

ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า เราจะจบวันแต่ละวันด้วยความรู้สึกดีๆ จากความสำเร็จที่เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็น ‘กำไร’ ชีวิตที่ทำให้มีกำลังใจในการก้าวต่อไป เพื่อหาสิ่งใหม่ๆ มาเติมลงใน Done list ในวันข้างหน้า

เขียนโดย Phanuwat Auaudomchaisakun

Source: https://bit.ly/3JSAE4H