คนเราเวลากลัวอะไรมากๆ มักไม่กล้าไปอยู่ใกล้ หรือสุงสิงกับสิ่งนั้น แต่นั่นไม่ใช่นิสัยของผู้ก่อตั้ง OpenAI บริษัทสตาร์ตอัปผู้สร้าง ChatGPT แชตบอตอัจฉริยะขึ้นมาเพื่อให้มั่นใจว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะไม่เป็นอันตรายแก่ตัวเขาและชาวโลก
แซม อัลต์แมน (Sam Altman) ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง OpenAI คือ ชายผู้นั้นที่ยอมรับว่า เขากลัว AI ครองโลก ถึงขั้นสร้างบ้านเพื่อกักตุนอุปกรณ์ยังชีพไว้ในยามฉุกเฉิน และตัดสินใจกระโจนเข้ามาพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ AI) ด้วยตัวเอง เพื่อการันตีว่า AI จะไม่ทำร้ายมนุษย์ในอนาคต
“ผมพยายามไม่คิดมากเกินไป แต่ผมมีทั้งปืน ทองคำ โพแทสเซียมไอโอไดด์ (ยาขับเสมหะ) ยาปฏิชีวนะ แบตเตอรี น้ำ หน้ากากกันก๊าซพิษจากกองทัพอิสราเอล และที่ดินผืนใหญ่ใน Big Sur (แหล่งท่องเที่ยวริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกในรัฐแคลิฟอร์เนีย) ซึ่งสามารถบินไปได้เลย”
แซมเปิดเผยกับบรรดาผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัป เมื่อปี 2016 เขายอมรับว่า ได้เตรียมการรับมือ ‘วันสิ้นโลก’ เพราะวิตกว่า โลกในอนาคตอาจเผชิญอันตรายสักอย่าง ไม่ว่าจะมาจากเชื้อไวรัสที่มนุษย์สร้างขึ้น การโจมตีของ AI หรือไม่ก็สงครามนิวเคลียร์
เริ่มก้าวข้ามความกลัวด้วยการเปิดตัวเรื่องเพศ
แซม อัลต์แมน เป็นชาวเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี ในสหรัฐอเมริกา เขาเกิดวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1985 และส่อแววอัจฉริยะด้านเทคโนโลยีมาตั้งแต่เด็ก
เขาบอกกับนิตยสาร The New Yorker ว่า ตนเองเริ่มเรียนรู้การเขียนโปรแกรม และแยกชิ้นส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์ ‘แมคอินทอช’ มาตั้งแต่ 8 ขวบ
การเอาชนะความกลัว และเปลี่ยนมาเป็นความกล้าหาญครั้งใหญ่ในชีวิตของแซม เริ่มต้นตั้งแต่อายุ 16 ปี เมื่อเขาออกมายอมรับกับพ่อแม่อย่างเปิดอกว่า ตนเองเป็นเกย์
“การเติบโตมาโดยเปิดเผยตัวตนว่าเป็นเกย์ในแถบมิดเวสต์ ยุคปี 2000 ไม่ใช่เรื่องน่าพิศมัยนัก” แซมระลึกความหลัง “แต่การมีความลับตอนอายุ 11 – 12 มันก็เป็นเรื่องที่แย่ไม่แพ้กัน”
เขาเล่าว่า สิ่งที่ช่วยเปิดโลกทรรศน์ และทำให้เขากล้าออกมาเปิดตัวในฐานะผู้มีความหลากหลายทางเพศ มาจากความรู้ที่ได้จากคอมพิวเตอร์ ‘แมคอินทอช’ เครื่องนั้น และการเข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ต
เอาชนะความกลัวอาวุธนิวเคลียร์
หลังเรียนจบไฮสกูลที่มิสซูรี แซมเลือกเรียนต่อสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แต่เรียนไปได้แค่ 2 ปี ก็ลาออกมาก่อตั้งบริษัทสตาร์ตอัปกับเพื่อนๆ ชื่อว่า Loopt
Loopt เป็นบริษัทผู้สร้างแอปพลิเคชันแชร์โลเคชันบนสมาร์ตโฟน และเป็น 1 ใน 8 บริษัทกลุ่มแรกที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก Y Combinator (YC) บริษัทนายทุนผู้สนับสนุนธุรกิจสตาร์ตอัปตัวพ่อของซิลิคอน แวลลีย์
YC ให้ทุนผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัปยุคนั้นคนละ 6,000 เหรียญสหรัฐ แต่แซมสามารถพา Loopt เติบโตจนมีมูลค่ามากถึง 175 ล้านเหรียญ ก่อนขายบริษัทไปในปี 2012 และนำทุนที่ได้มาก่อตั้งบริษัทธุรกิจเงินร่วมลงทุน ชื่อว่า Hydrazine Capital
จากนั้นในปี 2014 พอล เกรแฮม ผู้ก่อตั้ง YC เลือกแซม ในวัย 29 ปี มาเป็นทายาทสืบทอดตำแหน่งประธานบริษัท และปีต่อมา นิตยสาร Forbes จัดให้แซมติดอยู่ในโผ 30 มหาเศรษฐีรุ่นใหม่ที่อายุไม่เกิน 30 ปี
ระหว่างนั่งเก้าอี้ประธาน YC แซมเข้าไปลงทุนในสตาร์ตอัปด้านพลังงานนิวเคลียร์ ทั้งแบบฟิวชัน และฟิสชัน โดยเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากความต้องการส่วนตัว เพื่อก้าวข้ามความกลัวเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ และต้องการศึกษาแนวทางการใช้นิวเคลียร์ในเชิงสร้างสรรค์
รวมพลัง ‘อีลอน มัสก์’ ตั้งบริษัท OpenAI
ปี 2015 แซมจับมือ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของธุรกิจเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายบริษัท เปิดตัว OpenAI บริษัทไม่แสวงผลกำไร โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
“เราถกกันว่า อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดที่ทำได้ เพื่อให้มั่นใจว่า อนาคตจะเป็นสิ่งที่ดี” อีลอน มัสก์ บอกกับ New York Times
“เราจะคอยยืนดูข้างๆ หรือกระตุ้นให้มีการออกกฎระเบียบควบคุม หรือเราควรเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยการทำให้เกิดโครงสร้างที่ถูกต้อง กับคนที่สนใจจริงจังเรื่องการพัฒนา AI ในแนวทางที่ปลอดภัยและเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์”
นอกจาก อีลอน มัสก์ ยังมีคนดังในซิลิคอน แวลลีย์ อีกหลายคนร่วมลงขันก่อตั้ง OpenAI จนกระทั่งปี 2019 แซมตัดสินใจอำลาตำแหน่งประธาน YC เพื่อมารับงานซีอีโอของ OpenAI และโฟกัสกับการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นมิตรกับมนุษย์ตามที่ตั้งใจ
OpenAI ภายใต้การดูแลของแซม เปิดตัวเครื่องมืออัจฉริยะที่สร้างจาก Generative AI หรือ AI ที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากฐานข้อมูลเดิม
เครื่องมือที่ว่า ได้แก่ DALL-E โปรแกรมวาดภาพและสร้างสรรค์งานศิลปะอัตโนมัติ และ ChatGPT แชตบอตอัจฉริยะ ซึ่งกลายเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมรวดเร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมา มีผู้ใช้งานครบล้านคนภายในเวลา 5 วัน และครบ 100 ล้านคน ภายในเวลาเพียง 2 เดือน
แซมบอกว่า แม้ OpenAI ภายใต้การนำของเขา จะเปลี่ยนจากบริษัทไม่หวังผลกำไร มาเป็นบริษัทที่แสวงหากำไร แต่เขาจะพยายามรักษาสมดุลระหว่างแนวทางทั้งสอง โดยเรียกว่า “บริษัทที่มีการควบคุมกำไร” (capped-profit company)
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะต้องการแน่ใจว่า OpenAI จะยังคงมีเงินทุนมาพัฒนาเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์ต่อไป และไม่ให้ความโหยหากำไรเกินตัว มาทำให้ความตั้งใจของตนเองต้องไขว้เขวจากปณิธานเดิมที่วางไว้ นั่นคือ การขจัดความกลัวในใจ ด้วยการทำให้ AI เป็นมิตรกับทุกคน
เขียนโดย Phanuwat Auaudomchaisakun
Source: http://bit.ly/3RABLYz