อะไรทำให้เรามีความสุขกับงาน แก่นแท้ของการทำงานคือสิ่งใด?

Share

มีอาชีพหรือหน้าที่การงานที่แตกต่างกันไปมากมาย แต่ละอาชีพต่างเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่ขับเคลื่อนสังคม โดยมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกันแต่ประกอบกันเป็นภาพรวมขนาดใหญ่ ในแง่ปัจเจกแน่นอนว่า คนทำงานเพื่อได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน และใช้เงินนั้นไปกับการดำรงชีวิตในแต่ละวัน แต่นอกเหนือจากผลตอบแทนที่เป็นเงิน อะไรคือความหมายของการทำงานที่ทำให้เรามีความสุข?

สิ่งที่ทำให้เราสามารถทำงานต่อไปได้ทุกวัน บางคนเป็นครูอาจมีความสุขที่ได้เห็นบรรดาลูกศิษย์จบการศึกษา บางคนเป็นหมออาจมีความสุขเมื่อได้เห็นคนไข้หายดีจากการรักษา หรือบางคนอาจมีความสุขเมื่อได้เห็นภาพที่ตัวเองถ่ายปรากฏอยู่บนบิลบอร์ดโฆษณาบนตึกสูง ความหมายของแต่ละอาชีพล้วนต่างกัน แต่งานที่มีคุณค่าหรือความหมายบางอย่าง สามารถสร้างความสุขให้กับการทำงานจริงหรือ?

แดน ไอรลี (Dan Ariely) นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม บรรยายบนเวที TED ในหัวข้อ ‘อะไรทำให้เรามีความสุขกับงาน’ (What makes us feel good about our work?) ที่มีผู้ชมบน TED.com มากกว่า 7 ล้านครั้ง ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับความหมายของการทำงานไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งสามารถอธิบายว่า คนทำงานมีความสุขกับการทำงานได้อย่างไร

[ ‘งานที่มีความหมาย’ และ ‘งานที่ไร้ความหมาย’ ผลลัพธ์ที่แตกต่าง ]

การทดลองที่ 1: แดนและทีมงานทดลองเกี่ยวกับความคิดเรื่องผลลัพธ์จากการทำงาน โดยสร้างห้องทดลองและให้ผู้ร่วมทดลองประกอบหุ่นเลโก้ไบโอนิเคิล โดยจะจ่ายเงิน 3 ดอลลาร์ เมื่อประกอบหุ่นตัวแรกเสร็จ เมื่อประกอบเสร็จ ทีมงานได้เอาหุ่นวางไว้ใต้โต๊ะ แล้วถามต่อว่า ถ้าประกอบอีกตัวจะได้ 2.70 ดอลลาร์ เมื่อประกอบเสร็จก็ทำซ้ำแบบเดิม โดยเสนอเงินที่น้อยลงเรื่อยๆ ทีละ 30 เซนต์ กระทั่งถึงจุดหนึ่งคนจะบอกว่า “ไม่คุ้มที่จะทำแล้ว”

นี่เป็นการทดลองในเงื่อนไขที่เรียกว่า ‘งานที่มีความหมาย’ หลังจากประกอบเสร็จ ทีมงานบอกผู้ร่วมทดลองว่า เมื่อการทดลองจบจะเอาหุ่นเหล่านั้นมาแยกชิ้นส่วนออก ใส่กลับลงกล่องและเอามาใช้กับผู้ร่วมการทดลองคนต่อไป

การทดลองที่ 2: เรียกเงื่อนไขนี้ว่า ‘งานที่ไร้ความหมาย’ หรือเงื่อนไขซิสิฟัส มาจากเรื่องเล่าว่า ซิสิฟัสถูกพระเจ้าลงโทษ ให้เข็นก้อนหินขึ้นเขา เมื่อขึ้นไปเกือบจะถึงแล้ว หินนั้นจะกลิ้งกลับลงมา และเขาจะต้องเริ่มเข็นใหม่อีกครั้ง วนไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ

ทีมงานทดลองโดยให้ผู้ร่วมทดลองประกอบหุ่นเลโก้ไบโอนิเคิล โดยแลกกับเงิน 3 ดอลลาร์ และลดลงทีละ 30 เซนต์ สำหรับตัวต่อๆ ไป เหมือนกับการทดลองเงื่อนไขก่อนหน้า แต่ที่ต่างออกไปคือ ระหว่างที่ผู้ร่วมทดลองประกอบหุ่นตัวใหม่ ทีมงานจะเอาหุ่นที่ประกอบเสร็จก่อนหน้า มาแยกส่วนเป็นชิ้นๆ ต่อหน้าผู้ร่วมทดลอง และถ้าผู้ร่วมทดลองตกลงจะประกอบหุ่นตัวต่อไป ทีมงานจะเอาหุ่นที่เพิ่งแยกส่วนเสร็จดังกล่าวให้ไปประกอบ คือวงจรที่ไม่สิ้นสุด เมื่อผู้ร่วมทดลองสร้าง ทีมงานก็ทำลายต่อหน้าพวกเขา

เปรียบเทียบระหว่างการทดลองทั้ง 2 เงื่อนไข สิ่งที่พบคือ มีจำนวนผู้ร่วมทดลองในเงื่อนไข ‘งานที่มีความหมาย’ มากกว่าเงื่อนไข ‘งานที่ไร้ความหมาย’ ในอัตรา 11 ต่อ 7

การทดลองนี้ไม่ได้มีความหมายที่ยิ่งใหญ่อะไร ผู้ร่วมทดลองไม่ได้ทำอะไรยิ่งใหญ่อย่างการรักษามะเร็งหรือสร้างสะพาน เพียงแค่ประกอบหุ่นเลโก้ไบโอนิเคิล แลกกับเงินไม่กี่ดอลลาร์เท่านั้น

อีกทั้งผู้ร่วมทดลองทุกคนยังรู้ว่า หุ่นเหล่านี้จะถูกแยกส่วนในภายหลังอยู่ดี งานนี้จึงไม่ได้มีความหมายอะไรนัก อย่างไรก็ตาม ความหมายแม้เพียงเล็กน้อยก็สร้างความแตกต่างได้

การทดลองที่ 3: ทีมงานมีการทดลองนี้ในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยไม่ได้ให้ผู้ร่วมทดลองต่อหุ่นเลโก้ไบโอนิเคิลจริงๆ เพียงแค่เล่าวิธีการทดลองทั้ง 2 เงื่อนไขดังที่กล่าวไปให้ผู้ร่วมทดลองฟัง แล้วให้พวกเขาทำนายผลที่จะเกิดขึ้น พบว่า ผู้ร่วมทดลองทำนายไปในทิศทางที่ใกล้เคียงกับผลลัพธ์ที่พบ โดยทำนายว่า คนจะประกอบหุ่นในเงื่อนไข ‘งานที่มีความหมาย’ มากกว่า ‘งานที่ไร้ความหมาย’ แสดงให้เห็นว่า ผู้ร่วมทดลองรู้ว่าความหมายของงานนั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่พวกเขาอาจยังไม่เข้าใจว่ามันสำคัญมากน้อยเพียงใด

[ ได้ทำสิ่งที่ชอบเป็นความสุข แต่ถ้าสิ่งที่ชอบเป็นงานไร้ความหมาย ก็ไม่มีความสุข ]

นอกจากนี้ การทดลองพบว่า คนที่ชอบเลโก้จะประกอบหุ่นหลายตัวกว่า เพราะพวกเขามีความสุขที่ได้ทำ ขณะคนที่ไม่ชอบจะประกอบหุ่นน้อยตัวกว่า เพราะไม่มีความสุขที่ได้ทำ โดยพบในเงื่อนไข ‘งานที่มีความหมาย’ ซึ่งมีค่าสหสัมพันธ์ชัดเจนระหว่างความชอบเลโก้กับจำนวนของเลโก้ที่พวกเขาประกอบ

กลับกันในเงื่อนไข ‘งานที่ไร้ความหมาย’ มีค่าสหสัมพันธ์เป็นศูนย์ คือ ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างความชอบเลโก้กับจำนวนที่พวกเขาประกอบ นั่นสรุปได้ว่า “การทำลายหุ่นเลโก้ต่อหน้าผู้สร้าง ได้ทำลายความสุขจากการทำงานของพวกเขาลงไปด้วย”

การทดลองดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า คนให้ความสำคัญกับ ‘งานที่มีความหมาย’ มากกว่า ‘งานที่ไร้ความหมาย’ และการได้ทำงานที่ชอบอย่างมีความหมาย จะมีความสุขและมีแนวโน้มทำได้ปริมาณมากกว่าคนที่ไม่ชอบ แต่ขณะเดียวกัน ถึงจะได้ทำใน ‘สิ่งที่ชอบ’ แต่สิ่งนั้นเป็น ‘งานที่ไร้ความหมาย’ พวกเขาก็ไม่มีความสุข กลับกันสิ่งนี้เป็นการทำลายความสุขของการทำงานลง

[ เพิกเฉยต่อผลงาน ไม่ต่างกับการทำลายผลงานนั้น ]

การทดลองต่อไปนี้ต่างจากเดิมเล็กน้อย ทีมงานทดลองโดยเอาแผ่นกระดาษที่มีอักษรสุ่มเต็มหน้า และให้ผู้ร่วมทดลองค้นหาคู่อักษรที่เหมือนกัน แลกกับเงิน เมื่อทำเสร็จก็จะเสนอให้ทำอีกแผ่น แลกกับเงินที่น้อยลงกว่าเดิม และน้อยลงเรื่อยๆ ในแผ่นต่อๆ ไป คล้ายการทดลองประกอบหุ่นเลโก้ก่อนหน้า โดยได้สร้าง 3 เงื่อนไข คือ

เงื่อนไขที่ 1 : ให้ผู้ร่วมทดลองเขียนชื่อตัวเองลงบนกระดาษ ทำการจับคู่ตัวอักษร และส่งให้ทีมงาน โดยทีมงานจะสำรวจกระดาษแผ่นนั้น และพูดว่า “อือฮึ” แล้ววางลงกองกระดาษข้างๆ

เงื่อนไขที่ 2 : ผู้ร่วมทดลองไม่ได้เขียนชื่อตัวเอง เมื่อทำเสร็จส่งให้ทีมงาน และทีมงานจะมองกระดาษแค่ผ่านๆ และวางมันลงบนกองกระดาษโดยไม่ได้สำรวจอย่างตั้งใจ

เงื่อนไขที่ 3 : ผู้ร่วมทดลองไม่ได้เขียนชื่อตัวเอง เมื่อทำเสร็จส่งให้ทีมงาน โดยทีมงานจะใส่ลงในเครื่องทำลายเอกสารทันที

ผลที่เกิดขึ้นคือ ‘เงื่อนไขที่ 1’ ผู้ร่วมการทดลองทำงานไปเรื่อยๆ จนค่าตอบแทนลดลงถึง 15 เซนต์ จึงหยุดทำ ขณะที่ ‘เงื่อนไขที่ 3’ ที่ใส่เครื่องทำลายเอกสารทันที คนจะหยุดที่ 30 เซนต์ แปลว่า ‘เงื่อนไขที่ 3’ ทำงานจำนวนน้อยกว่า ‘เงื่อนไขที่ 1’ หมายความว่า “ถ้าทำลายผลงานของใคร จะทำให้เขาไม่มีความสุขกับสิ่งที่ทำ” ซึ่งเหมือนกับการทดลองก่อนหน้า

ส่วน ‘เงื่อนไขที่ 2’ ที่ชิ้นงานไม่ได้รับความสนใจ ผลปรากฏว่า ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับ ‘เงื่อนไขที่ 3’ ที่งานถูกทำลาย นั่นหมายความว่า “การเพิกเฉยต่อผลงานของใครสักคน มันแย่พอๆ กับการทำลายผลงานของเขา” การไม่ใส่ใจสร้างผลเสียได้ถึงขนาดนั้น

ขณะเดียวกัน เพียงแค่การมองดูผลงานของใครสักคนเพียงแค่คร่าวๆ แล้วพูดว่า “อือฮึ” กลับสามารถเพิ่มแรงจูงใจให้คนทำงานได้อย่างมหาศาล

ดังนั้นการเพิ่มแรงจูงใจดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องยากนัก แต่กลับให้ผลลัพธ์ที่ดี ขณะที่การทำลายแรงจูงใจก็ดูเหมือนไม่ยากเช่นกัน แต่ให้ผลลัพธ์ตรงกันข้าม

ผลการทดลองดังกล่าว จึงแสดงให้เห็นว่า คนทำงานต้องการความสนใจและใส่ใจต่อผลงานที่ทำ การเพิกเฉยต่อผลงานนั้น ไม่ต่างอะไรกับการทำลายผลงานพวกเขา และการทำลายผลงานพวกเขา ก็คือการทำลายความสุขในการทำงานลงด้วย

ผลสรุปคือ ความสุขของการทำงานจะเกิดขึ้นจากการที่เราได้ทำใน ‘สิ่งที่ชอบ’ และเป็น ‘งานที่มีความหมาย’ รวมถึงต้องได้รับ ‘ความสนใจ’ หรือ ‘การใส่ใจ’ จากคนอื่นๆ ต่อผลงานนั้น จึงจะส่งผลให้เรามี ‘ความสุขกับการทำงาน’ และสามารถทำงานต่อไปได้อย่างมีแรงจูงใจ ทั้งหมดเป็นแก่นของสิ่งที่ทำให้เราทำงานอย่างมีความสุข นอกเหนือจากผลตอบแทนที่ได้รับ ซึ่งทำให้เรามีแรงที่จะทำงานได้ในทุกๆ วัน

ลองสำรวจดูว่า งานที่กำลังทำอยู่ คุณได้พบกับ ‘สิ่งที่ชอบ’ ‘งานที่มีความหมาย’ และได้รับ ‘ความสนใจ’ หรือยัง?

เขียนโดย: Phoothit Arunphoon

Sources: https://bit.ly/3GMlwml

http://bit.ly/3w97XbN