สุขภาพใจสำคัญไม่แพ้สุขภาพกาย เทรนด์ดูแลจิตใจที่มาพร้อมการทำงานที่มีความหมายมากขึ้น

Share

สรุปเทรนด์โลกจากรายงาน Meta Foresight 2023 ตอนที่ 3: ความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ (Assertive Aspirations) 

Meta บริษัทแม่ของ Facebook และ Instagram ออกรายงานประจำปีภายใต้ชื่อ ‘เมตา ฟอร์ไซต์’ (Meta Foresight) เพื่อแนะนำนักการตลาด และนักวางกลยุทธ์สร้างแบรนด์สินค้าทั่วโลก ให้ทราบเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ข้อมูลนี้มาจากการวิเคราะห์บทสนทนาบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของ Meta ซึ่งมีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 3,700 ล้านคน รวมถึงการลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่าง 21,000 คน ใน 7 ประเทศทั่วโลก

บทความนี้ Future Trends จะพาไปดูข้อมูลในหมวดที่ 3 เกี่ยวกับเทรนด์ความมุ่งมั่นของคนรุ่นใหม่ในแง่การทำงานและการใช้ชีวิต

รายงานของ Meta ระบุว่า ผู้คนทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะยึดมั่นในความเชื่อใหม่ๆ อย่างแน่วแน่ในเรื่องความสำคัญของสุขภาพใจ การทำงานที่มีความหมาย ตลอดจนการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้น่าอยู่มากขึ้น ควบคู่ไปกับการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องการเงิน

ผลสำรวจพบว่า Gen Z มีปัญหาสุขภาพใจมากกว่าคนรุ่นอื่น และพวกเขามีแนวโน้มที่จะเข้ารับการบำบัดเพิ่มขึ้น โดยไม่กลัวสายตาของสังคม โดยการพูดถึงคำว่า ‘การบำบัด’ (Therapy) ใน Instagram เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ามากกว่า 53 เท่า

หัวข้อเกี่ยวกับสุขภาพใจที่มีการพูดถึงเพิ่มขึ้นมากที่สุด มีดังนี้

– แฟนตาซี (Fantasy) เชิงจิตวิทยา +11,654%

– การบำบัด (Therapy) +5,385%

– การเต้นรำลดเครียด (Biodanza) +421%

– น้ำทะเลบำบัด (Thalassotherapy) +319%

– การทำสมาธิลดเครียด (Mindfulness-based stress reduction) +299%

หนึ่งในต้นตอสำคัญของความเครียดและปัญหาสุขภาพจิต มาจากภาระหน้าที่และชีวิตการทำงานที่มีความเร่งรีบและกดดันมากขึ้น ดังนั้น ทางออกของปัญหา คือ การหันมาตั้งคำถามและทบทวนกับหน้าที่การงานที่ทำ เพื่อค้นหาคุณค่าและความหมายในชีวิต

ผลสำรวจพบว่า คนทั่วโลก 41% ยอมรับว่า การได้ทำงานที่มีความหมายและช่วยเติมเต็มความต้องการในชีวิต มีความสำคัญกับพวกเขามากกว่าที่ผ่านๆ มา โดย 34% บอกว่า ตอนนี้พวกเขาคาดหวังสิ่งที่ได้จากงานมากกว่าที่เคยเป็น โดยเฉพาะคนรุ่นมิลเลนเนียล และ Gen Z

แต่ในขณะที่ขวัญกำลังใจในการทำงานลดลง ความนิยมในการเป็นผู้ประกอบการกลับเพิ่มขึ้น โดยชาวมิลเลนเนียล 37% บอกว่า ตอนนี้พวกเขามีความฝันอยากเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเอง

หัวข้อเรื่องชีวิตการทำงานที่มีการพูดถึงเพิ่มขึ้นมากที่สุดในปี 2022 ได้แก่

– การเลิกพึ่งพิงภาคอุตสาหกรรม (Deindustrialization) +600%

– การแบ่งกะทำงาน (Split Shift) +464%

– การรักษาพนักงาน (Employee retention) +385%

– การบริหารจัดการคนเก่งในองค์กร (Talent management) +319%

– งาน (Job) +229%

– ขวัญกำลังใจพนักงาน (Employee morale) +166%

– เป้าหมาย (Purpose) +142%

– หมดไฟ (Burnout) +73%

เมื่อคนทำงานหันมาให้ความสำคัญกับการตามหาความหมายในชีวิตมากขึ้น การดูแลปรับปรุงบ้าน ซึ่งเป็นเหมือนสถานที่พักใจจึงได้รับความสนใจมากขึ้น และที่น่าแปลกใจคือ กลุ่มคนที่หันมาสนใจพูดถึงเรื่องนี้มากที่สุดกับเป็นคนรุ่นใหม่อายุน้อย ไม่ใช่ผู้สูงวัยใกล้เกษียณ โดยคนอายุ 18 – 44 ปี มากถึง 75% มีการโพสต์เรื่องการปรับปรังบ้าน (Home Improvement) บน Facebook

ส่วนหัวข้อเรื่องการนอน ก็เป็นอีกประเด็นที่คนให้ความสนใจเพิ่มขึ้นมากในหมวดสุขภาพ โดยยอดการใช้แฮชแท็ก #sleep และ #sleepy ใน Instagram Reel มีอัตราสูงขึ้น 99% ในเดือนมกราคม 2023 เทียบกับเดือนตุลาคม 2021 ที่ผ่านมา

นอกจากสุขภาพกายและใจแล้ว สุขภาพทางการเงินก็เป็นเรื่องที่คนให้ความสำคัญมากขึ้น โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 60% ยอมรับว่า พวกเขารู้สึกกังวลมากถึงมากที่สุดเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจในช่วง 1 ปีข้างหน้า โดยมีเพียง 31% ที่รู้สึกมั่นใจว่าสามารถเอาอยู่เรื่องการบริหารเงินในกระเป๋าของตัวเอง

หัวข้อเรื่องการเงินที่มีการพูดถึงเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่

– สินเชื่อส่วนบุคคล (Installment loan) +1,671%

– การอดออม (Frugality) +486%

– การบริหารจัดการเงิน (Financial management +465%

– เรตติ้งความน่าเชื่อถือ (Credit rating) +351%

– ทุนลับเพื่อใช้ติดสินบน (Slush fund) +282%

– หนี้สูญ (Bad debt) +189%

ปิดท้ายเซคชันนี้ รายงานแนะนำให้นักการตลาดพยายามใช้จุดแข็งของแบรนด์ต่างๆ เพื่อหาทางช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตให้กับผู้บริโภคในช่วงที่กำลังเผชิญกับความยากลำบากนี้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเป็นกำลังใจด้วยการให้ความบันเทิง หรือชี้ทางสว่างด้วยเคล็ดลับดีๆ จากผู้เชี่ยวชาญ ตั้งแต่เรื่องการดูแลสุขภาพไปจนถึงการเงิน

แบรนด์สามารถช่วยปลุกพลังความเข้มแข็งให้ลูกค้าผ่านช่องทางอันหลากหลาย ตั้งแต่การออกไปพบหน้ากันตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงการใช้คลิปวิดีโอสั้น หรือส่งข้อความหาเพื่อสื่อสารและเป็นกำลังใจให้โดยตรง

เขียนโดย Phanuwat Auaudomchaisakun

Source: https://bit.ly/3yQndvn