‘น้ำเปล่า’ เติมความสดชื่นให้กับร่างกาย แต่ยังมีอีกตัวเลือกที่ดีกว่า จากงานวิจัยโดยมหาวิทยาลัย Scotland’s St. Andrews

Share

‘น้ำ’ เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อสิ่งที่มีชีวิต โดยร่างกายของมนุษย์มีน้ำเป็นองค์ประกอบอยู่ถึงร้อยละ 60 ของน้ำหนักตัว หน้าที่ของน้ำคือเป็นตัวกลางในการเกิดปฏิกิริยาเคมีทุกชนิดในกระบวนการเมตาบอลิซึม หรือกระบวนการทางเคมีที่ช่วยให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติหรือสามารถรักษาภาวะต่าง ๆ ภายในร่างกายให้คงที่ (Homeostasis) 

สุขภาพร่างกายของเราขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำในร่างกาย เพราะถ้าหากร่างกายของเรา ‘ขาดน้ำ’ กระบวนการเมตาบอลิซึมก็จะผิดปกติ และส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถรักษาความสมดุลไว้ได้

ท่ามกลางอากาศร้อนในหน้าฝนแบบนี้ เชื่อว่าหลายๆ คนก็อาจจะเคยพบกับอาการของการ ‘ขาดน้ำ’ มาแล้วบ้าง ซึ่งภาวะขาดน้ำ (Dehydration) เป็นภาวะที่ร่างกายสูญเสียน้ำมากกว่าที่ได้รับ โดยมีอาการตามความรุนแรงที่แตกต่างกันไป ดังนี้

  • รุนแรงปานกลาง จะมีอาการกระหายน้ำ ตาแห้ง ปากแห้ง เหงื่อออกน้อย ท้องผูก มึนงง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
  • รุนแรงมากและเป็นอันตราย จะมีอาการกระหายน้ำอย่างรุนแรง ปัสสาวะน้อยและมีสีเข้ม หรือไม่มีปัสสาวะ อ่อนเพลีย มีไข้ หัวใจเต้นแรงและเร็ว หายใจหอบและถี่ และอาจช็อก หมดสติได้

โดยปกติแล้ว เมื่อรู้สึกกระหายน้ำ เราก็มักจะเลือก ‘น้ำเปล่า’ มาดับความกระหายนั้นให้หมดไปใช่มั้ยล่ะ นั่นก็เพราะน้ำเปล่าเป็นสิ่งที่เราสามารถหาได้ง่ายที่สุด และก็ช่วยให้เราสดชื่นได้ในทันที

แต่ความจริงแล้ว ‘น้ำเปล่า’ ก็ยังไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดในการเติมความสดชื่นให้กับร่างกาย เพราะงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Scotland’s St. Andrews ได้เปิดเผยว่า ถึงแม้ ‘น้ำเปล่า’ จะสามารถเติมน้ำให้กับร่างกายได้อย่างรวดเร็ว แต่การดื่มเครื่องดื่มที่มี ‘น้ําตาล ไขมัน หรือโปรตีน’ เล็กน้อยจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมความชุ่มชื้นจากของเหลวได้นานและดีกว่าการดื่มน้ำเปล่าเสียอีก

ศาสตราจารย์ Ronald Maughan จาก St. Andrews’ School of Medicine ได้อธิบายว่า ปัจจัยหนึ่งที่เครื่องดื่มสัมพันธ์กับร่างกายก็คือ ‘ปริมาณ’ ยิ่งเราดื่มมากเท่าไหร่ เครื่องดื่มก็จะไหลออกจากกระเพาะและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเจือจางของเหลวในร่างกายและให้ความชุ่มชื้น

ปัจจัยต่อมาคือ ‘องค์ประกอบสารอาหาร’ ยกตัวอย่างเป็น ‘นม’ โดยนมให้ความชุ่มชื้นมากกว่าน้ําเปล่าเพราะมีน้ําตาลแลคโตส โปรตีน และไขมัน ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยชะลอการดูดซึมของเหลวจากกระเพาะอาหาร และยังให้ความชุ่มชื้นต่อร่างกายเป็นเวลานาน นอกจากนี้นมยังมีโซเดียมซึ่งทําหน้าที่เหมือนฟองน้ํา ช่วยกักเก็บน้ําในร่างกายและทำให้เราปัสสาวะน้อยลง

เหมือนกับเกลือแร่ที่เราใช้ในการรักษาอาการขาดน้ำจากท้องร่วงที่มีองค์ประกอบของน้ำตาล โซเดียม และโพแทสเซียมในปริมาณเล็กน้อย ซึ่งช่วยให้การกักเก็บน้ำในร่างกายมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่ก็ไม่ใช่ว่าการกินน้ำตาลเพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นของร่างกายจะกินเท่าไหร่ก็ได้หรอกนะ Melissa Majumdar นักโภชนาการจาก Academy of Nutrition and Dietetics ได้เปิดเผยว่า เครื่องดื่มที่มีน้ําตาลปริมาณมาก อย่างน้ำผลไม้ หรือน้ำอัดลม จะส่งผลกระทบต่อการออสโมซิสของลำไส้เล็ก ซึ่งเป็นกระบวนการที่ดึงน้ำจากร่างกายเพื่อเจือจางปริมาณน้ำตาลก่อนดูดซึม 

และหากสิ่งใดก็ตามอยู่ในลำไส้แล้ว แปลว่าสิ่งนั้นจะไม่ถือว่าอยู่ในร่างกายเราอีกต่อไป ทำให้เราได้รับน้ำในปริมาณที่ลดลง ดังนั้น การดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในปริมาณเล็กน้อยก็เพียงพอต่อการรักษาความชุ่มชื้นในร่างกายแล้วล่ะ

นอกจากนี้ น้ำผลไม้และน้ำอัดลมยังให้ปริมาณของแคลอรี่ที่สูง แถมไม่ช่วยให้เราอิ่มได้เท่ากับการรับประทานอาหาร หากต้องเลือกระหว่างเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลปริมาณสูงกับน้ำเปล่า Majumdar ก็แนะนำให้เลือก ‘น้ำเปล่า’ จะดีกว่า

ประโยชน์ของน้ำนั้นมีมากมาย ทั้งช่วยกำจัดสารพิษออกจากตับและไต มีบทบาทสำคัญในการรักษาความยืดหยุ่นและความอ่อนนุ่มของผิวอีกด้วย จะเรียกว่าเป็น มอยเจอร์ไรเซอร์ที่มีราคาถูกที่สุดเลยก็ว่าได้ ทั้งยังทำให้ข้อต่อต่างๆ ของเราหล่อลื่น ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้อีกต่างหาก สุดยอดไปเลย!

ไหนๆ งานวิจัยก็บอกว่า ‘น้ำตาล’ ช่วยให้ร่างกายกักเก็บความชุ่มชื้นได้ดีขึ้น แปลว่าเราก็สามารถที่จะดื่มเบียร์รสหวาน หรือลาเต้รสกลมกล่อมได้เหมือนกันใช่มั้ย (เข้าทางเลยทีนี้) บอกเลยว่าเป็นคำตอบที่ ‘ผิด’

เพราะเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ จะทําหน้าที่เป็นยาขับปัสสาวะ และทำให้เราปัสสาวะมากขึ้น ลาเต้ก็เช่นกัน คาเฟอีนในกาแฟที่มากกว่า 300 มก. เทียบเท่าการดื่มกาแฟประมาณ 2-4 ถ้วย ก็จะยิ่งทำให้เราปวดปัสสาวะมากยิ่งขึ้น เพราะคาเฟอีนมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะนั่นเอง 

หากในสถานการณ์จริง เราเกิดมีภาวะขาดน้ำ และไม่สามารถหา ‘นม’ หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในปริมาณน้อยได้ในทันที ก็อย่ามัวแต่ตามหาจนเป็นลมล้มพับไปเสียก่อน ให้ดื่มน้ำเปล่าเพื่อรักษาสมดุลของความชุ่มชื้นในร่างกายให้คงที่แทน เพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าน้ำเปล่านั้นเป็นสิ่งที่หาได้ง่าย และช่วยเติมความชุ่มชื้นได้ดีที่สุดในเวลาคับขัน

เขียนโดย ชนัญชิดา พลอยพลาย

Source: https://edition.cnn.com/2019/09/25/health/best-drinks-for-hydration-wellness/index.html?fbclid=IwAR0SdTjMGxc7fNzOONoDEAdQRUHF3iSckxVFFGcgpNkN7dAeGwO4CVO96iA