ผู้หญิง – ผู้ชายควรได้เงินเดือนเท่ากันไหม? ความเท่าเทียมในโลกการทำงาน

Share

คอลัมน์: TalkกะTips
เขียน: พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ

BBC China editor Carrie Gracie

ด้วยความที่เป็นสื่อ เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมามีข่าวอันหนึ่งที่น่าสนใจและติดตาม เมื่ออดีตบรรณาธิการข่าวของบีบีซีประจำประเทศจีน “แคร์รี เกรซี” ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงการต่อต่านความไม่เท่าเทียมทางเพศกันระหว่างรายได้ของชายและหญิงในองค์กร ซึ่งมีคนหนุนหลังเธอเป็นจำนวนมากเพื่อกดดันให้บีบีซีได้แก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเธอได้เขียนจดหมายเปิดผนึกเพื่อให้โลกได้รับรู้ปัญหาภายในองค์กรนี้

น่าสนใจว่ามันเป็นการตั้งคำถามครั้งใหญ่ว่าองค์กรระดับโลกอย่างบีบีซีสื่อสาธารณะที่เก่าแก่ที่สุดของสหราชอาณาจักรมีปัญหาในการเลือกปฏิบัติทางเพศอย่างไม่เท่าเทียม พร้อมกันนั้นยังทิ้งคำถามให้เราขบคิดกันต่อว่า

ชายและหญิงนั้นควรได้รายได้เท่าเทียมกันไหม?

ในบางโรงงานแต่ละแห่ง ชายมีรายได้ที่มากกว่าด้วยสภาพร่างกายที่แข็งแรงและทำงานได้มากกว่า หรือบางบริษัทบางตำแหน่งก็ประกาศชัดเจนว่ารับเฉพาะเพศชายในตำแหน่งนั้นๆ

เมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสได้คุยกับ คุณเจอรัลด์ “เจอร์รี่” มาโกลีส ผู้จัดการใหญ่ของบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ประจำประเทศไทยเขาได้เล่าถึงสิ่งที่เขากำลังทำอยู่  เจอร์รี่เล่าว่าปัญหาแบบนี้มีมาช้านานโดยเฉพาะถ้าเป็นประเทศแถบเอเชียใต้ แบบอินเดียที่มีวัฒนธรรมและระบบชนชั้นที่เข้มข้น แต่สำหรับเมืองไทยเท่าที่เขาทำงานมาด้วยยังไม่ค่อยเจอปัญหาดังกล่าวแต่อย่างใด สิ่งสำคัญที่สุดก็คือองค์กรต้องมีการยอมรับความหลากหลายและการยอมรับในความแตกต่าง (Inclusive and Diversification) ถึงจะสามารถสร้างนวัตกรรมได้

เรื่องนี้ค่อนข้างจริงเพราะถ้าหากเป็นองค์กรที่มองว่ามีกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายการที่จะมีการยอมรับความแตกต่างและที่สำคัญมีพื้นที่สำหรับความแตกต่างจะทำให้องค์กรมองเห็นตัวเอง เข้าใจกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เจอร์รี่ยังเล่าให้ผมฟังถึงสิ่งที่เขาทำว่าเขาได้ชวนองค์กร NGO จากสวิสเซอร์แลนด์ที่ชื่อ EQUAL-SALARY Foundation มาร่วมตรวจสอบองค์กรของเขาเองเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศและความเท่าเทียมทางผลตอบแทน

สำหรับผม ผมมองว่าความเท่าเทียมทางโอกาสคือสิ่งที่สำคัญ ยกตัวอย่างเช่นคุณจะเปิดรับตำแหน่งหนึ่งคุณควรจะมีอัตราส่วนใบสมัครในตำแหน่งนั้นทั้งเพศชายและหญิงที่พอๆ กันเพื่อลดอคติทางเพศ แต่คุณสามารถไปตัดสินที่ความสามารถอีกที ซึ่งเจอร์รี่บอกว่าองค์กรของเขาเป็นองค์กรแรกของโลกที่ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบในการจ่ายค่าตอบแทนพนักงานทุกระดับทุกเพศทุกวัยอย่างเท่าเทียมกันไม่เลือกปฏิบัติ โดยมีอัตราส่วนผู้บริหารในแต่ละเพศใกล้เคียงกัน

ซึ่งถ้ามองจากข้อมูลกระทรวงการต่างประเทศ ไทยเองถือว่าเป็นผู้นำที่มีผู้บริหารระดับสูงที่เป็นผู้หญิงติด Top 5 ของโลก อย่างในปี 2016 ในขณะที่โลกมี CEO หญิงเฉลี่ย 24% ของไทยนั้นมีมากถึง 37% ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและสามารถดีได้มากกว่านี้ เพราะสิ่งหนึ่งที่องค์กรสหประชาชาติเคยวาง “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ไว้ประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ ความเสมอภาคทางเพศ (Gender Equality)  แล้วองค์กรของคุณล่ะมีปัญหาในเรื่องดังกล่าวไหม ผมว่าหมดยุคในการเลือกการปฏิบัติแล้ว