‘คนเราผิดพลาดกันได้’ 8 วิธีรับมือกับความกังวลในสถานการณ์ที่อาจเกิดความผิดพลาดจาก Harvard Business Review

Share

ความผิดพลาด เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเคยพบผ่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ อย่างการหยิบของผิดชิ้นที่ร้านค้า  การใส่ชุดพละผิดวันที่โรงเรียน หรือจะเป็นเรื่องที่ใหญ่ขึ้นอย่างการทำงานพลาดในที่ทำงาน

หลายๆ ครั้งความผิดพลาดก็เป็นสิ่งที่สามารถยอมรับและปล่อยผ่านได้ แต่ในบางกรณี ความผิดพลาดก็เป็นสิ่งร้ายแรงที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น ยิ่งกับอาชีพและหน้าที่การงานที่ต้องอาศัยความสมบูรณ์แบบ แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากให้ทันตแพทย์ถอนฟันให้ผิดซี่ หรือนักบัญชีของบริษัทลืมเบิกเงินเดือนให้ จริงไหม

สิ่งที่ตามมาหลังเกิดความผิดพลาด คงไม่พ้นความวิตกกังวลที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นภายในจิตใจ เช่น เราจะโดนหัวหน้าด่าหรือเจ้านายจะไล่ออกไหม จะโดนหักเงินเดือนหรือเปล่า และใช่ ทุกความวิตกที่เกิดขึ้น สามารถกลายเป็นความเครียดได้อย่างที่เราไม่ทันได้รู้สึกตัวเลยล่ะ

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกคนจะสามารถหลีกเลี่ยงความผิดพลาดและความวิตกกังวลได้ และจะดีกว่าไหม ถ้าเรามีวิธีรับมือกับความรู้สึกเหล่านั้น วันนี้ Future Trends ขอเปิดเผยกลยุทธ์จาก Harvard Business Review ให้ทุกคนได้ลองนำไปปฏิบัติ เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาด และลดความรู้สึกวิตกกังวลลง

[ กลยุทธ์ในการรับมือกับความผิดพลาดและความวิตกกังวล ]

พื้นฐานของความวิตกกังวล ประการแรก การคิดมากไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้ดีขึ้น ประการต่อมา ผู้คนมักหมกมุ่นกับความผิดพลาดจนไม่สนใจเรื่องอื่น และประการสุดท้าย Action is an antidote to anxiety (การลงมือทำคือยาถอนพิษของความวิตกกังวล)

สำหรับอาชีพที่ความผิดพลาดนั้นมีราคาแพงและอันตราย อย่างเช่น แพทย์ นักบัญชี วิศวกร จะถูกปลูกฝังอยู่เสมอว่าต้อง “ระวัง” ไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด และสำหรับคนที่มีบุคลิกและอุปนิสัยแบบนั้นอยู่แล้ว คำสอนเหล่านี้ก็จะยิ่งทวีคูณความวิตกกังวลและเพิ่มความตึงเครียดให้กับพวกเขาได้ไม่น้อย

1. แยกแยะให้ได้ ข้อผิดพลาดอันไหนใหญ่ อันไหนเล็ก

การที่วิตกกังวลกับทุกๆ ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ไม่ได้ช่วยให้เราระวังตัวมากขึ้น แต่จะทำให้เราหลงลืมว่าข้อผิดพลาดใดเป็นปัญหาใหญ่ที่เราวิตกกังวลมากที่สุด ดังนั้น จึงควรแยกแยะและจัดลำดับความสำคัญ เพื่อที่จะได้แก้ไขข้อผิดพลาดที่ร้ายแรงที่สุดก่อน

2. สร้างระบบและพฤติกรรมที่ลดความเสี่ยง 

มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าการทำเช็กลิสต์สามารถช่วยลดการเกิดข้อผิดพลาดได้จริง เช่นเดียวกับอุปกรณ์การแพทย์บางชนิดที่มีระบบเซนเซอร์ตรวจจับความถูกต้องและส่งเสียงเมื่อเกิดข้อผิดพลาด 

เพราะฉะนั้น การที่เรามีระบบและพฤติกรรมที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการทำผิดพลาดได้จริงนั้นจะต้องดีกว่าการพึ่งพาความตั้งใจและความคาดหวังลมๆ แล้งๆ ที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่แน่ๆ 

3. ตามหาฟีดแบ็กเพื่อนำมาแก้ไขจุดอ่อน

แม้จะเป็นคนที่มีความรอบคอบและมุ่งมั่น แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ตลอดไป บางครั้งอาจมีข้อผิดพลาดที่เรามองข้ามไป ดังนั้น การได้ฟีดแบ็กจากผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน ครอบครัว หรือแม้กระทั่งข้อความจาก AI ก็สามารถช่วยปิดจุดบอดที่เรามองไม่เห็นได้

4. ใช้ประโยชน์จากจุดแข็ง
จุดแข็งเป็นข้อดีหรือจุดเด่นที่มี เราสามารถใช้จุดแข็งเพื่อลดความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นได้ พยายามสังเกตตัวเองอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้นำความสามารถต่างๆ ที่มีมาประยุกต์ใช้กับการแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป

5. จัดการกับพฤติกรรมที่อาจก่อวินาศกรรมให้กับตัวเอง

Self-sabotaging หรือ การก่อวินาศกรรมให้กับตัวเอง เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อเรากำลังเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดทางแยกระหว่างจิตสำนึกด้านเหตุผลและสติ กับจิตใต้สำนึกที่เรียกร้องให้ทำตามความรู้สึกตัวเอง โดยไม่คิดถึงผลกระทบที่ตามมา ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวจะยิ่งเพิ่มความวิตกกังวลให้กับเรามากยิ่งขึ้น และแน่นอนว่าหากแก้ไขพฤติกรรมนี้ได้ ความผิดพลาดและความวิตกกังวลต่างๆ ก็จะลดลง

6. มีส่วนร่วมกับคนที่มีความกังวลคล้ายๆ กัน

ในข้อนี้เรียกได้ว่าเป็นกลยุทธ์ระดับทีม เมื่อมีข้อผิดพลาด เกิดขึ้น การมีส่วนร่วมของสมาชิกไม่ว่าจะเป็นการประชุม การแชร์ความคิดเห็น การฟีดแบ็ก รวมไปถึงการแนะนำแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของตัวเองให้กับผู้อื่นนั้นจะช่วยลดข้อผิดพลาดและความรู้สึกวิตกกังวลของทีมได้อย่างดี

7. ลดอุปสรรคจุกจิกด้วยการจัดการง่ายๆ เพื่อลดความเสี่ยง

การแก้ไขอุปสรรคเล็กๆ ด้วยการจัดการอย่างง่าย จะช่วยลดความเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว เช่น การที่เราไม่สามารถจดจำรายละเอียดยิบย่อยบางอย่างของงานได้ เราอาจแก้ปัญหาด้วยการจดโน้ตติดโต๊ะทำงานเอาไว้ เพียงเท่านี้ก็สามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดข้อผิดพลาดได้

8. ตามหากิจกรรมที่อนุญาตให้เราทำพลาดได้

กลยุทธ์สุดท้ายคือการปลดปล่อยเพื่อเพิ่มสมดุลให้กับชีวิต ลองหากิจกรรมที่เราจะสามารถทำผิดพลาดได้โดยเกิดความเสียหายน้อยที่สุด อย่างเช่น การทำสวนที่มีโอกาสในการประสบความสำเร็จต่ำ ซึ่งเป็นความเสียหายที่อยู่ในระดับที่สามารถรับได้และมีค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก เป็นต้น

เมื่อความสมบูรณ์แบบถูกคาดหวังและความผิดพลาดมีมูลค่าที่ต้องจ่าย คงไม่แปลกนักหากความกลัว ความวิตกกังวลจะเริ่มก่อตัวภายในจิตใจของเรา และถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ Future Trends เชื่อว่ากลยุทธ์ในบทความนี้จะเป็นแนวทางในการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันให้กับผู้อ่านได้อย่างแน่นอน

เขียนโดย ชนัญชิดา พลอยพลาย

Source https://hbr.org/2023/06/managing-anxiety-when-theres-no-room-for-error?fbclid=IwAR3uIimOzkfoTwL7DHEE2flDZ_sEUXLax5vVgjbg5VDVag0UIRMnCwB08CA

นิยาม Self-Sabotaging จาก https://www.facebook.com/futuretrends.th/posts/1352462521786856/