คอลัมน์: TalkกะTips
เขียน: พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ
ก่อนหน้านี้มีหนังสือจิตวิทยาคนทำงานเล่มหนึ่งที่ค่อนข้างฮือฮาตั้งแต่ชื่อหนังสือชื่อ “ศิลปะการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวย” ที่เขียนโดยโรเบิร์ต ซัตตัน ก่อนหน้านี้เขาเคยเขียนหนังสืออีกเล่มมาก่อนชื่อว่า The No Asshole Rule สิ่งที่ทำให้หนังสือของซัตตันขายดีก็เพราะเราทุกคนมักจะเจอ “คนเฮงซวย” ในความคิดของเราในชีวิตจริงใช่ไหมครับ บ้างก็ไม่ชอบคนขี้เกียจ บ้างก็ไม่ชอบคนรับผิดชอบ บ้างก็ไม่ชอบคนขี้โม้ ตัวผมเองก็มีคนที่ไม่ชอบอยู่เช่นกัน
ขอพูดถึงหนังสือเล่มนี้อีกสักหน่อยเคล็ดลับในเล่มนี้ก็คือ การวิเคราะห์ชนิดของปัญหาที่มาจากคนเฮงซวยเหล่านั้นได้สร้างขึ้น วิธีหลีกเลี่ยงในการที่จะกระทบกระทั่งหรือเผชิญหน้ากับเหล่าคนเฮงซวยเหล่านั้น และสำคัญสุดคือการจี้จุดอ่อนของคนเฮงซวยเหล่านั้นเพ่อที่จะเอาชนะด้วยเหตุและผล หากใครมีโอกาสลองไปหามาอ่านนะครับ สนุกและเจ็บจี๊ดๆชนิดที่ว่าอ่านไปบางบทคุณจะอุทานออกมาว่า “ใช่เลยๆๆ”
กลับมาที่เรื่องของผมอีกครั้ง…
คนเฮงซวยที่สุดในรูปแบบผมก็คือ “คนที่ทำตัวหล่อในสถานการณ์วิกฤต”
สำหรับผมคนขี้เกียจนั้นสามารถแก้ไขได้ ด้วยการใช้งานเขาให้ถูกประเภท หรือคนขี้โม้นี่ถ้าอย่างน้อยเขาทำได้สักครึ่งหนึ่งของที่เขาโม้เราอาจจะพอรับได้บ้าง แต่สำหรับผมคนทำหล่อนี่แก้ไขไม่ได้จริงๆ เรามานิยาม “คนทำตัวหล่อ” ไปด้วยกันครับ บางทีเขาอาจจะวนเวียนอยู่รอบๆคุณก็ได้
คนทำตัวหล่อในที่นี้ไม่ใช่เป็นคนแต่งตัวดีมีกรูมมิ่ง แต่หมายถึงในเวลาที่คนส่วนใหญ่จะเผชิญกับปัญหา จะมีคนประเภทหนึ่งที่แสดงความคิดที่เขาว่าเฉียบแหลมที่สุด โดยการเหยียดไอเดียคนอื่น อยากได้ซีน และปิดท้ายด้วยคำหล่อๆว่า “เพราะว่าพี่หวังดี” แต่ไม่ได้ลงมือทำอะไร หรือบางครั้งในสถานการณ์ที่ทุกคนกำลังดูแย่ องค์กรกำลังเจอกับวิกฤตปัญหา ก็จะออกมาแสดงทัศนะที่ดูหล่อ เพื่อที่เหมือนจะแสดงความรับผิดชอบ(ทั้งที่จริงก็ไม่ได้รับผิดชอบอะไรเลย) แต่ท้ายที่สุดกลายเป็นว่าตัวเองดูดีคนเดียวแต่คนอื่นดูแย่ก็มีหลายหน
วิธีการดีลกับพวกนี้ยากมากครับ เป็นไปได้ก็อย่าไปยุ่งเลย สำหรับผมการเว้นระยะห่างจากพวกเขาเป็นสิ่งที่พอจะบรรเทาอาการปวดหัวได้ เพราะเราไม่รู้ว่าเมื่อใดที่เขาจะเข้ามาเหยียบให้คุณดูต่ำเพื่อทำให้เขาดูสูงส่งในสายตาของคนอื่น คนพวกนี้เวลาพลาดก็จะสามารถพลิกผิดให้เป็นถูก ทำร้ายให้กลายเป็นดีได้ ดิ้นได้ตลอดเวลา ที่สำคัญคนทำหล่อกลุ่มนี้ก็มักจะมีคนอ่อนต่อโลกหลงไหลได้ปลื้มเป็นกองเชียร์อีกด้วย
ไม่แน่ใจว่าในชีวิตการทำงานของคุณเคยเจอคนแบบนี้หรือไม่ ถ้ามีคุณมีวิธีในการรับมืออย่างไรนำมาแบ่งปันกันได้นะครับ หรือคนทำงานลักษณะไหนที่คุณรู้สึกว่าเป็นมลภาวะในการทำงานนำมาแบ่งปันกันได้ครับ ก็ถือเสียว่าเป็น “การบำบัดแบบกลุ่ม”แล้วกัน เพราะชีวิตการทำงานนั้นหลายครั้งเราก็เหนื่อยกับคน มากกว่าเหนื่อยกับงานเสียอีก จริงไหม?