การตลาดยุคใหม่ต้องจริงใจ และลงมือทำ ชวนมา ร้อยพลัง ต่อจุดสังคม กับงาน ‘Good Society Day Connect The Good Dots’ ความสำเร็จเกิดขึ้นได้ หาก ‘ทุกคน’ ลงมือทำไปด้วยกัน

Share

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเกิดวิกฤติอย่างที่เราทราบกันดี ตั้งแต่วิกฤติทางการเมือง วิกฤติสาธารณสุขจากการแพร่ระบาดใหญ่ ต่อเนื่องสู่วิกฤติเศรษฐกิจที่สร้างแผลเป็น-ทิ้งร่องรอยความบอบช้ำไว้กับผู้คนมากมาย ไม่เพียงเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นยังรวมไปถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ในรอบ 2-3 ปีมานี้ อาจพูดได้ว่า เป็นช่วงเวลาที่ผลกระทบจากการสั่งสมปัญหามานานเริ่มปริแตกออกมาให้เห็น ที่ชัดเจนที่สุด คือการเข้าสู่ ‘ภาวะโลกเดือด’ ที่ส่งผลกระทบทั้งห่วงโซ่ตั้งแต่ระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ รวมถึงมนุษย์เราด้วย

หากมองอย่างผิวเผิน เรื่องเหล่านี้อาจดู ‘ไกลตัว’ สำหรับมนุษย์เงินเดือนหรือคนทำงานไปสักหน่อย ทว่า ในความเป็นจริงแล้วนี่เป็นเรื่องของทุกคนในสังคม ที่ผ่านมาเราอาจ ‘ฝากความหวัง’ ไว้ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากจนเกินไป กระทั่งคนทำงานภาคสังคมที่มีความพยายามในการขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาหนักขึ้นเรื่อยๆ หลายครั้งที่คนทำงานเหล่านี้หมดไฟแต่ก็สามารถผ่านมาได้ เมื่อได้เรียนรู้ว่า ทุกอย่างจะไม่ได้รับการคลี่คลาย หากพวกเขาไม่ลงมือทำ เพื่อเป็น ‘จุดตั้งต้น’ ในการเชื่อมร้อย ‘The Good Dots’ ไว้ด้วยกัน

‘Future Trends’ มีโอกาสร่วมฟังเสวนาภายในงาน Good Society Day ‘Connect The Good Dots: งานรวมพลคนสร้างสังคมดี’ ที่จัดขึ้นโดยกลุ่ม ‘GOOD Society Thailand’ ระหว่างวันที่ 22 ถึง 23 มีนาคม 2567 ภายในงานมีคนทำงานภาคสังคมมาร่วมแชร์ประสบการณ์กันอย่างเข้มข้น หลักใหญ่ใจความที่ทุกคนคิดเห็นตรงกัน คือปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทุกคนสามารถขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันได้แม้ไม่ใช่ภายใต้หมวกใบเดียวกัน เพื่อให้จุดเล็กๆ เหล่านี้ กลายเป็น ‘The Good Dots’ ที่ใหญ่ขึ้น ทำอะไรได้มากขึ้นกว่าที่เคย

สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/goodsocietythailand

ใครว่า ‘ธุรกิจ’ กับ ‘สิ่งแวดล้อม’ ไปด้วยกันไม่ได้?
เมื่อภาครัฐ-เอกชน-คนทำงาน มองเห็นปลายทางเดียวกัน

การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องสร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้ถูกพูดถึงมาพักใหญ่แล้ว ทั้งภาคสังคมและภาคประชาชนต่างก็เรียกร้องให้มีมาตรการหรือการควบคุมที่รัดกุม เพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่าเม็ดเงินหรือผลกำไรที่เอกชนได้รับ นั่นคือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศ เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ว่าคุณจะอยู่ภาคส่วนไหน หรือมีเงินมากเพียงใดก็ไม่มีใครหลีกเลี่ยงไปได้

อย่างไรก็ตาม ระยะหลังมานี้เทรนด์การเติบโตแบบยั่งยืนถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายมากขึ้น เป็นการลงทุนที่เน้นความยั่งยืน หรือ ‘Sustainable Investment’ โดย ‘สุนิตย์ เชรษฐา’ กรรมการผู้จัดการสถาบัน ‘Change Fusion’ อธิบายเรื่องนี้ในหัวข้อ ‘นวัตกรรมการลงทุนเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม’ ไว้ว่า เดิมทีการลงทุนจะเน้นผลกำไรเพียงอย่างเดียว เป้าหมายสูงสุดเป็นไปเพื่อตัวเงินเท่านั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญหรือสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากเท่าไร แต่ในทศวรรษที่ผ่านมา ‘การลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ’ เริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ ล้อไปกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับโลกของเรา

‘สุนิตย์’ ให้ข้อมูลว่า การลงทุนที่เน้นความยั่งยืนมีหลายรูปแบบ บางประเทศยอมติดลบในการลงทุนทำธุรกิจเพื่อให้เป้าหมายทางสังคมในเรื่องสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นจริง เป็นเรื่องน่ายินดีที่ภาคธุรกิจตื่นตัว และให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ ‘ช่องโหว่’ ที่ยังต้องจับตามองกันต่อไป คือการทำธุรกิจเพื่อสังคมต้องมีแหล่งเงินทุนในการต่อยอด บางรายไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรเหล่านี้ได้ เรื่องของรายงานที่เป็นมาตรฐานเพื่อนำมาเป็นข้อมูลเปรียบเทียบก็ยังมีให้เห็นไม่มากนัก ต้องพัฒนากันต่อไป ทำอย่างไรจึงจะขยายผลได้ เพื่อให้คนเข้ามาร่วมลงทุนจนเกิดเป็นโมเดลที่หลากหลายมากขึ้น

ด้าน ‘อภิชาติ การุณกรสกุล’ ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ฉายภาพมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ ‘BOI’ ให้เห็นตรงกันว่า ขณะนี้ ‘BOI’ มีมาตรการพิเศษเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำเงินไปลงทุนกับภาคชุมชนและสังคมมากขึ้น โดยมีสิทธิประโยชน์ในการงดเว้นภาษีมากที่สุดที่ ‘BOI’ เคยกำหนดมา หากธุรกิจที่นายทุนต้องการนำเงินไปลงทุนเข้าตามเกณฑ์และข้อกำหนด จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเป็นจำนวนเงินกว่า ‘สองเท่า’ ของเม็ดเงินลงทุนนั้นๆ หมายความว่า หากลงทุนไป 5 ล้าน จะได้รับการยกเว้นภาษี 10 ล้านบาทนั่นเอง

ตัวอย่างของ การลงทุนกับชุมชนและสังคม ตามข้อกำหนดนี้ อาทิ ท่องเที่ยวชุมชน ลดระดับความเหลื่อมล้ำการศึกษาและสิ่งแวดล้อม จัดการปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ฯลฯ กล่าวคือ ต้องมีส่วนในการสนับสนุนองค์กรท้องถิ่น ‘อภิชาติ’ ระบุว่า ปกติแล้วกลุ่มทุนภาคเอกชนและภาคชุมชนจะหากันไม่เจอ หรือแม้จะเจอกันก็ไม่เห็นภาพว่า มาตรการ ‘BOI’ เกี่ยวพันกับพวกเขามากน้อยแค่ไหน ตนมองว่า กลไกนี้มีความสำคัญในการทำหน้าที่เชื่อมร้อยให้คนสองกลุ่มมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงโลกได้

‘ความโปร่งใส’ เกิดขึ้นได้
ถ้าทุกคนขับเคลื่อนไปพร้อมกัน

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นหลักสากลที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ‘อาภา หวังเกียรติ’ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ข้อมูลว่า สำหรับต่างประเทศแล้วกฎหมายดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า ‘PRTR’ โรงงานอุตสาหกรรมต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมลพิษในโรงงานที่ปล่อยออกมาทั้งทางดินและอากาศ โดยจะมีการอัปโหลดข้อมูลที่เกี่ยวข้องเปิดเผยสู่สาธารณะบนเว็บไซต์ ประชาชนทุกคนเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้

สำหรับประเทศไทย กฎหมายและมาตรฐานที่ใช้ในการควบคุมสารพิษและสารอันตรายในปัจจุบันมีอยู่เพียง 6 ถึง 7 ชนิดเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วในอากาศที่เราหายใจเข้าไปทุกวัน มีสารพิษเป็นร้อยเป็นพันชนิด สารเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของเรา บางชนิดตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมชั่วนิรันดร์ก็มีเช่นกัน หากกฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นจริง จะทำให้เรารู้ถึงต้นตอของปัญหามลพิษหลายๆ อย่าง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้

‘อาภา’ ระบุว่า ระหว่างที่ตัวบทเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้นจริง ในฐานะประชาชนคนหนึ่งเราทุกคนมีส่วนในการผลักดันให้เกิดความโปร่งใสได้ โดยอาจจะเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวมากๆ ในชีวิตประจำวัน อย่างการอ่านฉลากสินค้าทุกครั้งก่อนหยิบใส่ตะกร้า ทุกวันนี้เรารู้จักส่วนประกอบเหล่านี้ครบถ้วนแล้วหรือยัง สารประกอบสารพัดชนิดเหล่านี้ทำงานอย่างไรกับร่างกายและสุขภาพของเราบ้าง

ด้าน ‘พีรพล เหมสิริรัตน์’ ผู้ร่วมก่อตั้งเพจ ‘Environman’ เพจที่นำเสนอเนื้อหาด้านสิ่งแวดล้อม ระบุว่า การเข้าถึงข้อมูลในประเทศไทยเป็นไปค่อนข้างยาก ทั้งยังมองว่า มาตรการของภาครัฐในไทยที่เข้ามาควบคุม กำกับ ดูแล ยังไม่มีออกมาในรูปแบบกฏกติกาที่ชัดเจน เขายกตัวอย่างถึงบรรดาสินค้ารักษ์โลกที่แปะป้าย ‘Eco-Friendly’ บนฉลาก แต่เรากลับไม่เคยรู้นิยามที่แท้จริงของสินค้าเหล่านี้ว่า ต้องมีมาตรวัดอย่างไร ในแง่ของผู้บริโภคจึงทำให้การตัดสินใจซื้อสินค้าค่อนข้างยากเหมือนกัน

ในฐานะคนทำสื่อที่ทำหน้าที่ ‘ส่งสาร’ ให้ผู้คน ‘พีรพล’ ระบุว่า เขาเชื่อในแนวคิด ‘กฎ 1%’ หากทำอะไรซ้ำๆ ทุกวัน วันละ 1% เราจะสามารถเป็นคนเก่งขึ้น ดีขึ้นได้ ในเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน การนำเสนอข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในทุกๆ วัน แม้จะยังไม่สามารถเปลี่ยนความคิดผู้คนให้หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้ทั้งหมด แต่ตนก็เชื่อว่า หากทำทุกๆ วันอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยสื่อสารให้ผู้คนหันมาตระหนักเรื่องนี้มากขึ้น

ปล่อยให้คนอื่น ทำในสิ่งที่เรา ‘ไม่ถนัด’
ทำงานตามแพชชัน ‘เป็นไปได้’ หากเป้าหมายชัดพอ

เซสชัน ‘จุดแลกเปลี่ยน: Live & Learn’ ชวนคนทำงานภาคสังคมเล่าถึงการต่อสู้กับอุปสรรค กว่าจะมาเป็นคนทำงานที่แข็งแกร่งอย่างทุกวันนี้ได้ สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกัน คือความตั้งใจที่ใหญ่เพียงพอจะทำให้ ‘ความฝัน’ ออกมาเป็นรูปธรรมมากที่สุด

‘สมศักดิ์ บุญคำ’ ผู้ก่อตั้ง ‘Local Alike’ ธุรกิจท่องเที่ยวที่เน้นการทำงานร่วมกับชุมชน เล่าว่า จุดเริ่มต้นของ ‘Local Alike’ เริ่มต้นขึ้นจากการที่ตนได้ไปทำงานที่ต่างประเทศเป็นเวลา 3 ปี กระทั่งมองเห็นถึงความแตกต่างของสังคม จากการทำงานในฐานะวิศวกรโรงงานด้วยเงินเดือนหลักแสน ‘สมศักดิ์’ ตัดสินใจออกจากงาน และนำเงินเก็บที่มีไปเรียนต่อเฉพาะด้านเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘Local Alike’ ในวันนั้น แม้เป็นการตัดสินใจที่ยาก แต่มาจนถึงวันนี้ ‘สมศักดิ์’ บอกว่า ดีใจที่ตัดสินใจถูก การบริหารธุรกิจทุกวันนี้ทำให้มายด์เซ็ตของตนเปลี่ยนไป ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ในทุกทุกวัน

ด้าน ‘วรรณกนก เปาะอิแตดาโอะ’ นายกสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ และผู้ก่อตั้งกลุ่ม ‘ลูกเหรียง’ เล่าถึงเส้นทางกว่าจะมาเป็นกลุ่มลูกเหรียง ผ่านทั้งความยากในการดูแลเด็กๆ รวมถึงการต่อสู้กับจิตใจตัวเอง แต่สิ่งที่ ‘วรรณกนก’ ได้เรียนรู้ คือจงเป็นตัวของตัวเอง ทำในสิ่งที่เราเชี่ยวชาญให้ดีที่สุด ปล่อยเรื่องที่ไม่ถนัดให้คนอื่นทำแทน เมื่อคิดได้แบบนี้จะทำให้เกิดโมเดลใหม่ๆ ขยายต่อได้อีกมาก ไม่มีอะไรง่าย แต่เพราะความไม่ง่ายนี่แหละที่ทำให้เราได้สั่งสมประสบการณ์ ทำมาก ได้เรียนรู้มาก ประสบการณ์จะบอกเองว่า เราเป็นคนแบบไหน

ส่วน ‘จำรอง แพงหนองยาง’ รองผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือ ‘Swing’ ถอดบทเรียนว่า สิ่งที่ได้ คือ ‘Life-long Learning’ ต้องเรียนรู้ไปตลอดชีวิต เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมนี้ให้รอด เพราะคนที่ตนทำงานด้วยต้องเผชิญทั้งปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ จะทำอย่างไรให้พวกเขาเหล่านี้ไปต่อได้

ทั้งนี้ ‘จำรอง’ ยังถอด ‘Key Takeaway’ เพิ่มเติมด้วยว่า จากการทำงานภาคสังคมมาเป็นระยะเวลานาน ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่เป็นเรื่องของคนทุกคน ถ้าทุกคนเปิดใจ และไม่นำไม้บรรทัดของตนเองไปวัดใคร ปัญหาที่มีอยู่จะลดน้อยลง สังคมจะหันหน้ามาพูดคุยกันมากขึ้น

เพราะทุกคน คือ ‘จิ๊กซอว์’ ชิ้นสำคัญ

แม้ภายในงานจะมีกลุ่มคนทำงานภาคสังคมขึ้นมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัญหาที่ถูกพูดถึงล้วนไม่ใช่ ‘เรื่องใหม่’ และ ‘ไกลตัว’ กลับเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงซ้ำ หลายครั้งมานานหลายสิบปี แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข หรือถูกขับเคลื่อนด้วยความเร็วที่เพิ่มมากขึ้น อาจเป็นเพราะเรื่องนี้ถูกขยายผลในคนกลุ่มเดิมที่มีจำนวนเท่าเดิม

ในทางตรงกันข้าม หากเรื่องทั้งหมดนี้ถูกส่งต่อ-ขยายผลไปยังคนกลุ่มอื่นมากขึ้น เห็นช่องว่างที่จะมาช่วยต่อเติม-ประจุดให้ยาวขึ้น สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ความเป็นไปได้ที่สังคมเราจะกลายเป็น ‘GOOD Society’ ก็คงไม่เป็นความฝันที่ไกลเกินจริงไปนัก เหมือนที่วิทยากรหลายคนเน้นย้ำว่า ทุกเรื่องที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของ ‘ทุกคน’ ในสังคม จะสำเร็จได้ต้องช่วยกัน ลงมือทำไปด้วยกัน