LOADING

Type to search

เศร้าจัง! ลางาน-ลาพักร้อน ก็ยังต้องทำงาน ชีวิตจะ Productive ไปไหน?

เศร้าจัง! ลางาน-ลาพักร้อน ก็ยังต้องทำงาน ชีวิตจะ Productive ไปไหน?
Share

คอลัมน์: TalkกะTips
เขียน: พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ

อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่โจทย์หนึ่งที่ผมคิดขึ้นมาระยะหนึ่ง ในยุคที่ทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่บอกว่าให้เราต้อง “มีประสิทธิผล” (Productive) ตลอดเวลา จนบางทีก็รู้สึกเหนื่อยล้าไปเสียเหลือเกิน หลายครั้งต้องมาคอยกดดันหรือรีดเค้นตัวเองให้รู้สึกอย่าหยุดนิ่งเลยสักระยะ จนบางครั้งก็รู้สึกว่าบางที ความสุขที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร?

เคยเป็นไหมครับลางาน ลาพักร้อนที่เราแพลนมาเสียดิบดี แต่ก็ยังต้องมาตอบเมล์งานหรือแชทงานที่เด้งตลอดเวลา

จะปีนเขาเมล์ลูกค้าก็เข้า จะพายเรือในอ่าวไทยนายก็ LINE มาตามสไลด์งาน นี่มันเศร้าเกินไปไหม อะไรคือสิ่งที่เรียกว่า “การลาพักร้อน”ที่แท้จริง หรือบางทีเราก็แค่อยากนอนขดตัวในผ้าห่มดูซีรีส์ใน Netflix ไม่ได้อยากไปอ่านหนังสือฉลาดๆที่ขบเหลี่ยมความคิด ที่กูรูชีวิตแนะนำทั้งที่เราก็ไม่มั่นใจว่าเราชอบมันหรือเปล่า

การสูญเสียตัวตนและความแปลกแยก (Alienation) นั้นดูน่ากลัวไปเสียกว่าการที่ชีวิตของเราไม่ Productive เสียอีก แน่นอนว่ามนุษย์เรานั้นเกิดมาก็เพื่อสร้างประสิทธิผลให้กับโลกใบนี้ และธุรกิจของคนที่จ้างงานเรา แต่เราเองก็ไม่จำเป็นต้องขูดรีดตัวเองไปถึงจุดที่ตึงที่สุด ในสมัยก่อนเราอาจจะคุ้นชินกับคำว่า Work Life Balance ที่หาสมดุลให้กับชีวิตในแบบที่อาจจะทำงานหนัก 5 วันเพื่อวันพักผ่อน 2 วัน

แต่ยุคปัจจุบันเราถูกทำให้เชื่อว่าการผสมผสานใช้ชีวิตส่วนตัวกับงานแบบ Work Life Integration ซึ่งถามว่ามันดีกับใคร มันดีกับคนที่มีระดับชั้นที่สูงกว่า เพราะว่าเขาสามารถสั่งงานได้นอกเหนือเวลางานเช่นกัน แต่ในระดับ Operation ดูจะไม่ได้ประโยชน์แต่อย่างใด โดยเฉพาะบริษัทในประเทศไทย ที่หลายครั้งก็เอาแต่รากศัพท์สวยๆมา แต่ไม่ได้เอาคอนเซปต์มา เช่น ถือแม้จะยืดหยุ่นเรื่องการทำงาน แต่พนักงานก็ยังต้องมีเวลาตอกบัตร เรียกได้ว่าไม่ได้ลดชั่วโมงการทำงานลดลงแต่อย่างใด แต่สามารถใช้งานนอกเวลาได้มากขึ้นเสียด้วย

ส่วนคนลาพักร้อนที่ดีบางทีก็ไม่ใช่การเทงานทิ้งเสียทั้งหมด เราควรจะวางแผนอย่างดีส่งมอบงานและภารกิจที่ค้างไว้ให้เรียบร้อย ไม่ใช่พอไปถึงคนนั้นคนนี้ก็ต้องมาไล่ตามตัว โดยเฉพาะพวกที่ทำเกี่ยวกับการเงินควรจะจัดการให้เรียบร้อยเพราะการขาดหายไปของเราย่อมกระทบกับคนหมู่มากเช่นกัน

คุณจิก ประภาส ชลศรานนท์
รูปภาพจาก : ประชาชาติ

ผมชอบคำพูดของคุณ จิก ประภาส ชลศรานนท์ หัวเรือใหญ่ของ Workpoint ที่เคยเขียนถึงชีวิตที่มีสมดุลว่า

“ถ้าเราหาเงินได้สองบาท ซื้อข้าวหนึ่งบาท และซื้อดอกไม้หนึ่งบาท”

ความหมายของมันก็คือถ้าหากเรามีรายได้สำหรับพอเลี้ยงชีพได้แล้วนอกจากเราจะใช้จ่ายเพื่อความอยู่รอดแล้ว อย่าลืมเติมพลังใจและความรื่นรมย์ให้กับตัวเอง สิ่งนั้นอาจจะดีกว่าก็ได้นะครับ ถ้าหากไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน

Tags::

You Might also Like